Nuclear Test Ban Treaty; Limited Test Ban Treaty LTB (1963)

สนธิสัญญาห้ามการทดลองอาวุธนิวเคลียร์, สนธิสัญญาจำกัดการทดลอง (๒๕๐๖)

     สนธิสัญญาห้ามการทดลองอาวุธนิวเคลียร์หรือบางครั้งเรียกกันว่าสนธิสัญญาจำกัดการทดลองเป็นข้อตกลงร่วมกันของประเทศมหาอำนาจซึ่งประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และสหภาพโซเวียตที่จะควบคุมอาวุธนิวเคลียร์และแก้ไขปัญหาผลกระทบของละอองกัมมันตรังสีที่มีต่อสภาวะแวดล้อม เป็นสนธิสัญญาห้ามการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในบรรยากาศในอวกาศ และใต้ผิวน้ำ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของ ๓ ประเทศมหาอำนาจร่วมลงนามกันที่กรุงมอสโกเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๖๓ สนธิสัญญาฉบับนี้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๖๓ และนับเป็นความสำเร็จครั้งแรกของการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างประเทศในช่วงหลังสงครามโลก ครั้งที่ ๒ (Second World War)* ซึ่งนำไปสู่การผ่อนคลายความตึงเครียดของสงครามเย็น (Cold War)*
     แนวความคิดของการเจรจาควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างประเทศเกิดขึ้นอย่างจริงจังในกลางทศวรรษ ๑๙๕๐ ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๕๔ สหรัฐอเมริกาทดลองระเบิดปรมาณูที่เกาะบิกีนี (Bikini) ในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งมีศักยภาพการทำลายล้างเทียบเท่ากับปรมาณูที่ทิ้งถล่มเมืองฮิโระชิมะ (Hiroshima) ๑,๐๐๐ ลูกความร้อนจากการระเบิดและกัมมันตรังสีจำนวนมหาศาลได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแก่สภาพแวดล้อมและส่งผลร้ายต่อเรือประมง "ลัคกีดรากอน" (Lucky Dragon) ของญี่ปุ่นที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงทั้งทำให้ลูกเรือที่ถูกกัมมันตรังสีเสียชีวิต ๑ คน ข่าวการทดลองนิวเคลียร์ดังกล่าวได้สร้างความหวาดวิตกแก่นานาชาติ นอกจากนี้ ในช่วงเวลาเดียวกัน สตรีญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งที่ป่วยด้วยกัมมันตรังสีจากการทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโระชิมะเมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ ได้เดินทางมารักษาตัวที่สหรัฐอเมริกา การปรากฏตัวของสาวฮิโระชิมะเหล่านี้มีส่วนทำให้ปัญหาการตกกระจายของกัมมันตรังสีมีความสำคัญและเป็นที่กังวลกันมากขึ้นในหมู่ผู้นำของประเทศต่าง ๆ ใน ค.ศ. ๑๙๕๕ จึงมีการประชุมเจรจาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยคณะอนุกรรมการ ๕ ประเทศ (ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต อังกฤษ แคนาดา และฝรั่งเศส) ของคณะกรรมาธิการการลดกำลังรบขององค์การสหประชาชาติ (Subcommittee of Five of the U.N. Committee on Disarmament) แต่การประชุมดังกล่าวก็ไม่บรรลุวัตถุประสงค์มากนัก เมื่อเกิดเหตุการณ์การลุกฮือของชาวฮังการี (Hungarian Uprising)* ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๖ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากนโยบายการล้มล้างอิทธิพลสตาลิน (De-stalinization)* ของนีกีตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev)* ผู้นำสหภาพโซเวียตการจัดประชุมหารือระหว่างประเทศก็ยุติลงโดยปริยาย
     ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๓-๑๙๕๘ สหรัฐอเมริกาสหภาพโซเวียต และอังกฤษทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในบรรยากาศรวมทั้งหมด ๒๓๑ ครั้ง และตลอด ค.ศ. ๑๙๕๘ ทั้ง ๓ ประเทศมหาอำนาจก็ยังคงทดลองอาวุธนิวเคลียร์ โดยตลอด ความสำเร็จของสหภาพโซเวียตในการส่งดาวเทียมสปุตนิค ๑ (Sputnik I) ซึ่งเป็นดาวเทียมดวงแรกของโลกขึ้นไปโคจรในอวกาศรอบโลกในเดือน ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๗ และต่อมาในเดือนพฤศจิกายนก็ส่งดาวเทียมสปุตนิค ๒ (Sputnik II) พร้อมกับสุนัขชื่อ "ไลคา" (Laika) ไปสู่อวกาศและโคจรรอบโลกด้วย มีส่วนกดดันสหรัฐอเมริกาซึ่งยังคงล้าหลังด้านอวกาศให้หาทางเปิดการเจรจากับสหภาพโซเวียต ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๕๘ ประธานาธิบดีดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) จึงประกาศว่าสหรัฐอเมริกาพร้อมจะยุติการทดลองอาวุธนิวเคลียร์เป็นเวลา ๑ ปี หากสหภาพโซเวียตและอังกฤษจะปฏิบัติตามในเงื่อนไขเดียวกัน นอกจากนี้ ไอเซนฮาวร์ยังสามารถตกลงกับฮาโรลด์ แมกมิลแลน (Harold Macmillan)* นายกรัฐมนตรีอังกฤษในการจะเชื้อเชิญครุชชอฟให้เข้าร่วมประชุมระหว่างชาติของผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์เพื่อร่วมหารือเกี่ยวกับปัญหานิวเคลียร์ ระหว่างปลาย ค.ศ. ๑๙๕๘ - ต้น ค.ศ. ๑๙๖๐ มีการเจรจาหารือเกี่ยวกับการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์และการห้ามการทดลองอาวุธนิวเคลียร์เป็นระยะ ๆ ทั้งในส่วนของที่ประชุมผู้แทนขององค์การสหประชาชาติที่นครเจนีวา และที่ประชุมผู้แทนของประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ แต่ผลการเจรจาก็ไม่บรรลุข้อตกลงกันมากนักเพราะสหภาพโซเวียตไม่เห็นด้วยกับประเด็นเรื่องการให้มีคณะกรรมาธิการระหว่างชาติดำเนินการตรวจสอบสถานที่ (on-site inspection-OSI) ทำการทดลองนิวเคลียร์ทั้ง ช่วงเวลาของการยุติการทดลองนิวเคลียร์จะเป็นเวลานานเท่าใดก็ไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ผลสำคัญประการหนึ่งของการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการควบคุมนิวเคลียร์คือการลงนามร่วมกันในสนธิสัญญาแอนตาร์กติก (Antarctic Treaty) ค.ศ. ๑๙๕๙ กำหนดให้แอนตาร์กติกเป็นภูมิภาคแห่งสันติภาพระหว่างประเทศซึ่งจะไม่มีการติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ หรือการทดลองอาวุธนิวเคลียร์หรือตั้งฐานทัพที่นั่น และประเทศมหาอำนาจตกลงจะหาข้อยุติในประเด็นความขัดแย้งเรื่องต่าง ๆ ในการประชุมสุดยอดที่กรุงปารีสในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๖๐ ขณะเดียวกันประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ก็ตกลงจะเดินทางไปเยือนสหภาพโซเวียตใน ค.ศ. ๑๙๖๐ ด้วย
     ต่อมา ในวันที่ ๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๖๐ สหภาพโซเวียตยิงเครื่องบินลาดตระเวนเพดานสูงยู-๒ (U-2) ของสหรัฐอเมริกาตกที่เมืองสเวียร์ดลอฟสค์ (Sverdlovsk) ด้วยข้ออ้างว่าเครื่องบินลาดตระเวนเข้ามาสอดแนมในดินแดนโซเวียต วิกฤตการณ์ยู-๒ (U-2 incident) ทำให้สหภาพโซเวียตยกเลิกการประชุมสุดยอดที่ จะมีขึ้นและถอนเรื่องการเยือนของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ทั้งเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาขอโทษ อย่างไรก็ตาม เมื่อจอห์น เอฟ. เคนเนดี (John F. Kennedy) ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๖๐ ครุชชอฟซึ่งเห็นว่าเคนเนดีอ่อนประสบการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศจึงเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกถอนตัวออกจากนครเบอร์ลินตะวันตก แต่ประสบกับความล้มเหลว เพราะเคนเนดีและผู้นำประเทศตะวันตกปฏิเสธการถอนตัวออกจากนครเบอร์ลินและต่างยืนยันสิทธิเรื่องเส้นทางเข้าสู่นครเบอร์ลินตะวันตกโดยผ่านเยอรมนีตะวันออก สหภาพโซเวียตจึงตอบโต้ด้วยการประกาศยกเลิกนโยบายการควบคุมลดอาวุธนิวเคลียร์และเพิ่มงบประมาณทางทหารขึ้นอีกร้อยละ ๒๕ ทั้งเริ่มทดลองอาวุธนิวเคลียร์อีกครั้งในต้นเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๖๑ โดยทดลองนิวเคลียร์ในบรรยากาศถึง ๓ ครั้งในเวลาเพียง ๑ สัปดาห์เท่านั้น สหภาพโซเวียตอ้างว่า ฝรั่งเศสได้ทดลองนิวเคลียร์ก่อนจึงทำให้สหภาพโซเวียตไม่สามารถหลีกเลี่ยงการทดลองได้ ในกลางเดือนกันยายน สหรัฐอเมริกาก็ตอบโต้ด้วยการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ใต้ดินและเริ่มการทดลองนิวเคลียร์ในบรรยากาศอีกครั้งเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ค.ศ. ๑๙๖๒ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๑-๑๙๖๒ ทั้ง ๒ ฝ่ายต่างทดลองระเบิดนิวเคลียร์มากกว่า ๒๐๐ ลูก บรรยากาศความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศจึงขยายตัวเข้าปกคลุมยุโรปอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๖๑ สหภาพโซเวียตยังสร้างกำแพงลวดหนามและต่อมาเป็นคอนกรีตปิดกั้นการเดินทาง เข้าออกตามพรมแดนระหว่างเยอรมนีตะวันตกกับเยอรมนีตะวันออก กำแพงดังกล่าวซึ่งเรียกกันว่ากำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall)* จึงกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงสงครามเย็น
     ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๖๒ เกิดวิกฤตการณ์ขีปนาวุธที่คิวบา (Cuban Missile Crisis) ขึ้น ซึ่งสืบเนื่องจากการที่สหภาพโซเวียตได้เสริมกำลังรบในคิวบาด้วยการติดตั้งขีปนาวุธและฐานปล่อยขีปนาวุธนำวิถีพิสัยกลาง (Intermediate Range Ballistic Missiles - IRBMs) จำนวน ๔ ฐานซึ่งสามารถยิงถล่มเมืองสำคัญ ๆ ในสหรัฐอเมริกาได้ และยังสร้างฐานที่ตั้งขีปนาวุธอีก ๑๖ ฐานประธานาธิบดีเคนเนดีจึงประกาศปิดล้อมเกาะคิวบาและเรียกร้องให้สหภาพโซเวียตถอนขีปนาวุธ ทั้งกองกำลังของสหรัฐอเมริกาและกองกำลังขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization - NATO)* ก็เตรียมพร้อม วิกฤตการณ์ขีปนาวุธที่คิวบาดำเนินไปประมาณ ๑ สัปดาห์ท่ามกลางความหวาดผวาของนานาประเทศที่เกรงว่าความขัดแย้งดังกล่าวอาจพัฒนาเป็นสงครามนิวเคลียร์ได้ ในท้ายที่สุดสหภาพโซเวียตได้ยอมถอนขีปนาวุธและรื้อฐานขีปนาวุธทั้งหมดจากคิวบา ผลสำคัญของวิกฤตการณ์ครั้งนี้คือความสัมพันธ์ของทั้ง ๒ ประเทศอภิมหาอำนาจพัฒนาดีขึ้นและทั้ง ๒ ฝ่ายต่างตระหนักถึงความจำเป็นของการจะหาทางควบคุมอาวุธนิวเคลียร์และทบทวนการห้ามทดลองนิวเคลียร์กันอีกครั้งหนึ่ง ในปลายเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๖๒ ครุชชอฟได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับประธานาธิบดีเคนเนดีทางจดหมายโดยเสนอแนะว่าสหภาพโซเวียตพร้อมจะเปิดการเจรจาเกี่ยวกับการห้ามทดลองนิวเคลียร์ ทั้งยอมให้มีการตรวจสอบสถานที่ที่ทดลองนิวเคลียร์แต่มีเงื่อนไขให้ตรวจสอบได้ปีละ ๒-๓ แห่งเท่านั้น การโอนอ่อนของสหภาพโซเวียตส่วนหนึ่งเป็นเพราะสหภาพโซเวียตกำลังขัดแย้งกับสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างรุนแรงและจีนก็เร่งพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งทำให้ครุชชอฟหวาดวิตก และอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะฝรั่งเศสประสบความสำเร็จในการพัฒนานิวเคลียร์ ทั้งสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกาจึงมีความเห็นร่วมกันในการจะยับยั้งการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์และหวังว่าการตกลงเกี่ยวกับการห้ามทดลองนิวเคลียร์จะเป็นมาตรการที่ใช้ป้องปรามการแพร่ขยายนิวเคลียร์ได้
     ในต้นเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๖๓ ประธานาธิบดีเคนเนดีกล่าวสุนทรพจน์ที่ มหาวิทยาลัยอเมริกัน (The American University) เรียกร้องการลดความตึงเครียด ของสงครามเย็นและการพยายามครั้งใหม่ของสหรัฐอเมริกาในการจัดประชุมเจรจาห้ามการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ สหรัฐอเมริกาเสนอจะยุติการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดหากสหภาพโซเวียตจะดำเนินการเช่นเดียวกัน ประธานาธิบดีครุชชอฟตอบรับว่าเป็นสุนทรพจน์ที่ดีที่สุดของประธานาธิบดีอเมริกันนับตั้งแต่ประธานาธิบดีรูสเวลต์เป็นต้นมา ในต้นเดือนกรกฎาคมครุชชอฟก็ประกาศที่นครเบอร์ลินตะวันออกว่าสหภาพโซเวียตพร้อมจะหารือเกี่ยวกับความร่วมมือและการไม่รุกรานซึ่งกันและกันกับประเทศตะวันตก รวมทั้งหยุดการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในอวกาศ บรรยากาศ และใต้น้ำ การประกาศดังกล่าวจึงนำไปสู่การเจรจาระดับสูงที่กรุงมอสโกในวันที่ ๑๒ กรกฎาคมโดยลอร์ดเฮลแชม (Lord Hailsham) และดับเบิลยู. เอเวอเรลล์ แฮร์ริแมน (W. Averell Harriman) เป็นผู้แทนของอังกฤษและสหรัฐอเมริกาตามลำดับ ในระหว่างการเจรจา ผู้แทนสหรัฐอเมริกาได้ชี้แนะเป็นนัยว่าสหรัฐอเมริกาพร้อมจะร่วมมือกับสหภาพโซเวียตต่อต้านโครงการนิวเคลียร์ของจีนในปลายเดือนกรกฎาคม ผู้แทนของทั้ง ๓ ประเทศมหาอำนาจก็บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการห้ามการทดลอง อาวุธนิวเคลียร์ และนำไปสู่การลงนามร่วมกันระหว่างสามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และรัสเซีย ประกอบด้วย ดีน รัสก์ (Dean Rusk) เซอร์อะเล็ก ดักลาส-ฮูม (Sir Alec Douglas- Home)* ลอร์ดฮูม (Lord Home)* และอันเดรย์ อันเดรเยวิช โกรมิโค (Andrei Andreyevich Gromyko)* ในสนธิสัญญาห้ามการทดลองนิวเคลียร์ที่กรุงมอสโกเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๖๓ ต่อมา รัฐสภาสหรัฐอเมริกาก็ให้สัตยาบันสนธิสัญญาเมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ด้วยคะแนนเสียง ๘๐ ต่อ ๑๙ ประธานาธิบดีเคนเนดีจึงลงนามรับรองสนธิสัญญาเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๖๓
     สนธิสัญญาห้ามการทดลองนิวเคลียร์ ค.ศ. ๑๙๖๓ ประกอบด้วยคำอารัมภบท (Preamble) และ ๕ มาตราซึ่งมีสาระสำคัญคือ ๑) ห้ามการทดลองนิวเคลียร์ในบรรยากาศ อวกาศ หรือสถานที่ใดซึ่งผลของการทดลองอาจเข้าสู่บรรยากาศได้เช่นใต้น้ำ ๒) การแก้ไขเปลี่ยนแปลงต้องได้รับความเห็นชอบจาก ๓ ประเทศมหาอำนาจและเสียงส่วนใหญ่ของทุกประเทศที่ลงนามแต่ ๓ ประเทศมหาอำนาจสามารถยับยั้ง (veto) การแก้ไขใด ๆ ได้ ๓) ทุกประเทศต้องให้สัตยาบันสนธิสัญญาและสนธิสัญญาฉบับนี้ต้องลงทะเบียนตามมาตรา ๑๐๒ ของกฎบัตรสหประชาชาติ ๔) ไม่มีการกำหนดระยะเวลาของสนธิสัญญา ประเทศสมาชิกที่ต้องการถอนตัวต้องแจ้งความจำนงล่วงหน้า ๓ เดือนให้ทุกประเทศสมาชิกทราบ ๕) ต้นฉบับสนธิสัญญาซึ่งมีทั้งฉบับภาษาอังกฤษและภาษารัสเซียต้องเก็บไว้ที่ฝ่ายจดหมายเหตุของรัฐบาลประเทศที่ริเริ่มการทำสนธิสัญญา และให้ฉบับสำเนาแก่รัฐบาลทุกประเทศที่ร่วมลงนาม
     ใน ค.ศ. ๑๙๖๔ นานาประเทศทั่วโลกรวม ๑๐๕ ประเทศซึ่งรวมทั้งประเทศไทยได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาห้ามการทดลองนิวเคลียร์ แต่ฝรั่งเศสและสาธารณรัฐประชาชนจีนปฏิเสธที่จะร่วมลงนามด้วย เพราะประธานาธิบดีชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulle)* ผู้นำฝรั่งเศสเห็นว่าสนธิสัญญาดังกล่าวเป็นการกระทำในลักษณะหน้าไหว้หลังหลอกของประเทศมหาอำนาจเนื่องจากยังคงอนุญาตให้มีการทดลองใต้พื้นดินอยู่ ทั้งเป็นการพยายามขัดขวางการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของ ฝรั่งเศสด้วยส่วนจีนก็มีความคิดเห็นเช่นเดียวกับฝรั่งเศสทั้งเห็นว่า ๓ ประเทศมหาอำนาจต้องการผูกขาดการครอบครองนิวเคลียร์และสหภาพโซเวียตเป็นพวกลัทธิแก้ (revisionism) ที่ทรยศต่อระบอบสังคมนิยมด้วยการยอมจำนนทางทหารต่อจักรวรรดินิยมอเมริกา
     อย่างไรก็ดี สนธิสัญญานี้เป็นความตกลงควบคุมอาวุธนิวเคลียร์สำคัญฉบับแรกตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่มีผลทางการเมืองมากกว่ายุทธศาสตร์ทางทหารเพราะทำให้การควบคุมอาวุธบนโต๊ะเจรจามีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนำไปสู่การปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตและระหว่างยุโรปกับสหภาพโซเวียต ประธานาธิบดีชาร์ลเดอ โกลซึ่งดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระจากสหรัฐอเมริกาได้ใช้ประเด็นการครอบครองและควบคุมนิวเคลียร์เป็นพื้นฐานของการสร้างความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตและเยอรมนีตะวันตกซึ่งในเวลาต่อมามีส่วนทำให้นโยบายมุ่งตะวันออก (Ostpolitik)* ของวิลลี บรันดท์ (Willy Brandt)* หัวหน้าพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมัน (Social Democratic Party of Germany - SPD)* ประสบความสำเร็จ สนธิสัญญาห้ามการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ยังเป็นก้าวแรกของการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างประเทศและนำไปสู่ความตกลงร่วมมือด้านนิวเคลียร์อีกหลายฉบับในเวลาต่อมาที่สำคัญคือ สนธิสัญญาห้ามการแพร่ขยายนิวเคลียร์ (Nuclear Non-Proliferation Treaty ค.ศ. ๑๙๖๘) สนธิสัญญาการเจรจาจำกัดอาวุธยุทธศาสตร์ครั้งที่ ๑ (Strategic Arms Limitation Talks Treaty - SALT I ค.ศ. ๑๙๗๒) สนธิสัญญาห้ามการทดลองวินาทีสุดท้าย (The Threshold Test Ban Treaty ค.ศ. ๑๙๗๔) สนธิสัญญาการเจรจาจำกัดอาวุธยุทธศาสตร์ครั้งที่ ๒ (Strategic Arms Limitation Talks Treaty - SALT II ค.ศ. ๑๙๗๙) และสนธิสัญญาห้ามการทดลองเบ็ดเสร็จ (Comprehensive Test Ban Treaty - CTBT ค.ศ. ๑๙๙๖).



คำตั้ง
Nuclear Test Ban Treaty; Limited Test Ban Treaty LTB
คำเทียบ
สนธิสัญญาห้ามการทดลองอาวุธนิวเคลียร์, สนธิสัญญาจำกัดการทดลอง
คำสำคัญ
- สนธิสัญญาห้ามการทดลองวินาทีสุดท้าย
- สนธิสัญญาห้ามการทดลองเบ็ดเสร็จ
- สนธิสัญญาการเจรจาจำกัดอาวุธยุทธศาสตร์ครั้งที่ ๒
- สนธิสัญญาจำกัดการทดลอง
- บิกีนี, เกาะ
- สงครามเย็น
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สนธิสัญญาห้ามการทดลองอาวุธนิวเคลียร์
- การลุกฮือของชาวฮังการี
- คณะกรรมาธิการการลดกำลังรบขององค์การสหประชาชาติ
- ครุชชอฟ, นีกีตา
- นโยบายการล้มล้างอิทธิพลสตาลิน
- แมกมิลแลน, ฮาโรลด์ มอริซ
- สนธิสัญญาแอนตาร์กติก
- ไอเซนฮาวร์, ดไวต์ ดี.
- สเวียร์ดลอฟสค์, เมือง
- เคนเนดี, จอห์น เอฟ.
- วิกฤตการณ์ขีปนาวุธที่คิวบา
- กำแพงเบอร์ลิน
- วิกฤตการณ์ยู-๒
- องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต
- โกล, ชาร์ล เดอ
- โกรมิโค, อันเดรย์ อันเดรเยวิช
- แฮร์ริแมน, ดับเบิลยู. เอเวอเรลล์
- ดักลาส-ฮูม, เซอร์อะเล็ก
- รัสก์, ดีน
- เฮลแชม, ลอร์ด
- บรันดท์, วิลลี
- ลัทธิแก้
- นโยบายมุ่งตะวันออก
- พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมัน
- สนธิสัญญาการเจรจาจำกัดอาวุธยุทธศาสตร์ครั้งที่ ๑
- สนธิสัญญาห้ามการแพร่ขยายนิวเคลียร์
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1963
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๕๐๖
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 6.N 577-752.pdf